อันโตนิโอ กรัมชี่ (1932)

ประชาธิปไตยของแรงงาน

โดย อันโตนิโอ กรัมชี่

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ปัญหาเร่งด่วนสำหรับนักสังคมนิยมในยุคนี้ที่เข้าใจภาระกิจทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพและภาระกิจของพรรคที่เป็นตัวแทนจิตสำนึกกรรมาชีพซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และผลักดันการเคลื่อนไหวไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชนชั้นนี้คืออะไร?

ปัญหาคือ เราจะนำพลังทางสังคมมหาศาลที่ตื่นตัวขึ้นมาในช่วงสงคราม(โลกครั้งที่หนึ่ง)มาใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร? เราจะนำพลังนี้มาหล่อหลอมให้มีวินัยและทิศทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานของรัฐสังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพได้อย่างไร? เราจะเชื่อมโยงปัจจุบันกับอนาคตได้อย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของปัจจุบันและวางแผนเพื่อการก่อกำเนิดอนาคตในขณะเดียวกัน? .....

หน่ออ่อนของรัฐสังคมนิยมมีอยู่แล้วในสถาบันทางสังคมประจำวันที่ชนชั้นกรรมาชีพสร้างขึ้นเอง ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้ให้เป็นระบบรวมศูนย์ที่มีพลัง โดยที่ยังรักษาลักษณะความเป็นอิสระในการทำงานของแต่ละองค์กร เราจะสามารถสร้าง “ประชาธิปไตยแรงงาน” อย่างแท้จริงในยุคปัจจุบัน ประชาธิปไตยแรงงานดังกล่าวจะเป็นกำลังหลักในการคัดค้านและต่อต้านรัฐนายทุนเพื่อหวังเข้ามาแทนที่รัฐนายทุนดังกล่าวในบทบาทการบริหารประเทศชาติ

ขบวนการแรงงานในยุคปัจจุบันนำโดยพรรคสังคมนิยม (PSI) และสภาแรงงาน (CGL) แต่ในระดับคนงานพื้นฐาน อำนาจทางสังคมของพรรคและสภาแรงงานเกิดขึ้นมาโดยทางอ้อมด้วยหลายวิธีทาง คือมาจากชื่อเสียงหรือความชอบธรรมขององค์กรเหล่านี้ในสายตาของกรรมกร และมาจากการสั่งการจากข้างบนและความเฉื่อยชาของกรรมกรระดับล่าง อิทธิพลของพรรคขยายอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายสังคมคอมมิวนิสต์แม้แต่ในหมู่คนที่ไม่เคยสนใจการต่อสู้ทางการเมืองมาก่อน แต่รูปแบบของพลังกระจักกระจายดังกล่าวต้องปรับให้มีความมั่นคงและวินัยมากขึ้น ความหลากหลายต้องถูกกลืนเข้ามาเป็นการจัดตั้งที่มีความเข้มแข็ง ชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกึ่งกรรมาชีพต้องถูกจัดเข้าเป็นสังคมที่มีระบบเพื่อการพัฒนาตนเองในด้านการศึกษา ประสบการณ์ และจิตสำนึกในภาระกิจของชนชั้นที่จะยึดอำนาจรัฐ ....

หน่วยงานต่างๆ ในโรงงานที่มี “กรรมการคนงาน” สมาคมสังคมนิยมต่างๆ และชุมชนของชาวนา คือศูนย์กลางชีวิตประจำวันของกรรมาชีพและชาวนา และเป็นจุดที่เราต้องลงไปทำงานเคลื่อนไหวโดยตรง “กรรมการคนงาน”คือองค์กรของประชาธิปไตยแรงงานซึ่งต้องปลดปล่อยตัวเองจากขีดข้อจำกัดที่นายจ้างวางไว้ ในยุคนี้ “กรรมการคนงาน” ต้องลดทอนอำนาจของนายทุนในโรงงานในรูปแบบต่างๆ ในอนาคตเมื่อมีโอกาสพัฒนาและเจริญเติบโตยิ่งขึ้น องค์เหล่านี้จะได้เป็นเครื่องมือของอำนาจชนชั้นกรรมาชีพในการยกเลิกหน้าที่ต่างๆ ของชนชั้นนายทุนในการบริหารโรงงาน

กรรมาชีพต้องเริ่มเลือกผู้แทน “กรรมการคนงาน” จากคนงานที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อส่งเข้าไปใน “สภาคนงาน” ภายใต้คำขวัญ “อำนาจสูงสุดในโรงงานต้องอยู่ที่กรรมการคนงาน” และ “อำนาจรัฐต้องอยู่กับสภากรรมาชีพและสภาชาวนา”

ในสภาพเช่นนี้ชาวคอมมิวนิสต์ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมและสมาชิกสมาคมสังคมนิยมต่างๆ มีกลุ่มเป้าหมายอันใหญ่หลวงในการเสนอแนวทางปฏิวัติอย่างเป็นรูปธรรม....

จาก L'Ordine Nuovo 21/6/1919
Forgacs (1999) หน้า 79-82