โดย ดังแคน ฮาลัส (Duncan Hallas) 1994

ระบบทุนนิยม: ถ้าไม่ปฏิวัติก็เท่ากับยอมจำนน

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

คนทำงานธรรมดาๆ ต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตประจำวันได้อย่างไร? และเมื่อได้อะไรมาแล้วคนธรรมดาปกป้องสิ่งเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างไร? นี่คือคำถามสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมทุกวันนี้ ยกตัวเช่นเรื่องสงคราม ถ้าเราหยุดยั้งสงครามได้ในที่สุด เราห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้ไหม? หรือในเรื่องรัฐสวัสดิการในตะวันตกที่ชนชั้นปกครองทั่วยุโรปกำลังพยายามทำลาย รัฐสวัสดิการในยุโรปเป็นตัวอย่างที่ดีของการ "ค่อยๆ ปฏิรูป" ในอดีต ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมันไม่มี การสถาปนารัฐสวัสดิการได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม มันเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับพลเมืองคนทำงานธรรมดาๆ มหาศาล แต่ตั้งแต่วันแรกรัฐสวัสดิการมันเป็นการประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายโดยที่ฝ่ายเราได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก

ทุกวันนี้มีอะไรแปลกๆ หลายอย่างที่ถูกเรียกกันว่า "การปฏิรูป" ซึ่งไม่ใช่เลย ฝ่ายชนชั้นนายทุนหรือฝ่ายปฏิกิริยาชอบใช้คำว่า "การปฏิรูป" เมื่อเขาต้องการจะทำลายฐานะของเรา หรือทำลายการบริการของรัฐเพื่อเข้าสู่กลไกตลาด โดยมีการลดจำนวนลูกจ้างและลดการบริการคนจน ดังนั้นมีการใช้คำว่า "การปฏิรูป" โดยฝ่ายตรงข้ามเวลาเขาจะแปรรูประบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปของพวกนี้เป็นภัยต่อคนธรรมดาและครอบครัวของเรา และตรงข้ามกับความหมายของการปฏิรูปที่ฝ่ายเราใช้

“การปฏิรูป” ที่แท้จริง ที่นำการพัฒนาชีวิตมาสู่คนทำงานทั่วไป มักมาจากการต่อสู้ และการต่อสู้ดังกล่าวในที่สุดต้องมองว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ในสังคมชนชั้นที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้มันเป็นไปในรูปแบบอื่นไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าพวกนักบวชนักบุญเสรีนิยมหรือพวกพหุนิยมมันจะอ้างอย่างไรเกี่ยวกับ “สังคมที่ไม่มีชนชั้นแล้ว”

การต่อสู้ทางชนชั้นที่ว่านี้ เกือบทุกกรณีเป็นการต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจน เมื่อ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขียนหนังสือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ใน 1848 เขาพูดถึงการเจริญเติบโตของทุนนิยม ความจำเป็นที่จะต้องมีสังคมนิยม และหัวข้ออื่นๆ แต่ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าในส่วนท้ายของ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เป็นข้อเรียกร้องที่จำกัดกว่านั้น บางเรื่องที่เรียกร้องไปในเล่มนี้อาจเกิดขึ้นภายใต้ทุนนิยมได้ เช่นการเก็บภาษีก้าวหน้าที่เก็บจากคนรวย หรือระบบการศึกษาฟรีสำหรับเด็กทุกคน เป็นต้น

ประเด็นสำคัญที่เราไม่ควรลืมคือ การต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนและที่จับต้องได้ เป็นการต่อสู้ที่เปลี่ยนโลกจริงๆ ก็อย่างที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขียนไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ที่ผ่านมาเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” แน่นอนความสำคัญของแต่ละเป้าหมายในการต่อสู้จะต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงเสมอ

ในอังกฤษ การเรียกร้องสิทธิลงคะแนนเสียงสำหรับชายทุกคนเป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่ใช้ปลุกระดมขบวนการแรงงาน และระหว่าง 1830 ถึง 1860 ชนชั้นปกครองอังกฤษได้คัดค้านและต่อสู้กับข้อเรียกร้องอันนี้อย่างรุนแรง แต่เมื่อชนชั้นปกครองสรุปว่าคงไม่สามารถยับยั้งการต่อสู้ของคนชั้นล่างได้ มันก็จำยอมประนีประนอม ดังนั้นระหว่าง 1867 ถึง 1918 มันค่อยๆ เปิดโอกาสให้ชายมีสิทธิ์เลือกตั้ง และในปี 1928 หญิงและชายทุกคนที่อายุ 21 ขึ้นไปจึงมีสิทธิ์

ในอัฟริกาใต้ในปี 1994 ชนชั้นปกครองผิวขาวที่เคยต่อต้านสิทธิเลือกตั้งสำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีผิวดำ จำต้องยินยอมให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิ์นี้ในขั้นตอนเดียวทันที ประเด็นคือการใช้กำลังเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย (ประเทศไทยก็เหมือนกัน เราต้องออกมาสู้สมัย ๑๔ ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ -บรรณาธิการ) การต่อสู้อันยาวนานของคนชั้นล่างทำให้ชนชั้นปกครองส่วนใหญ่เริ่มสรุปว่ามันต้องจำยอมเราตรงนี้ ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองมิได้ยอมแพ้ในการพยายามปกป้องผลประโยชน์ทางชนชั้นในรูปแบบอื่นๆ แต่อย่างใด แน่นอน ในกรณีอัฟริกาใต้สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาที่คนอัฟริกานับล้านคาดหวังว่าจะแก้ แต่มันช่วยเสริมพลังการต่อรองของฝ่ายเราในการต่อสู้ระหว่างชนชั้น และที่สำคัญในช่วงเวลาหนึ่งมันเป็นประเด็นที่สามารถนำมาใช้ในการปลุกระดมมวลชน มันเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันมันนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญต่อไปคือ ระบบทุนนิยมสามารถปรับตัวกับข้อเรียกร้องอันไม่มีวันสิ้นสุดของชนชั้นกรรมาชีพได้หรือไม่ โดยที่ยังรักษาระบบสังคมชนชั้นและการขูดรีดอยู่?

พวกแนวคิดปฏิรูป

ทฤษฏีการปฏิรูป” (ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก “การต่อสู้เพื่อการปฏิรูป”) พวกนี้มองว่าการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ เมื่อสะสมกันแล้วจะสามารถแปรรูปสังคมให้เป็นสังคมใหม่ได้อย่างสงบ โดยไม่ต้องมี "การปฏิวัติ" แนวคิดนี้เชื่อว่าสังคมทุนนิยมจะค่อยๆ แปรตัวเป็นระบบสังคมนิยมเสรี นี่คือทฤษฏีของพวกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือพรรคแรงงานในยุโรป คนที่เขียนและพัฒนามันขึ้นมาเป็นระบบมากที่สุดคนแรกคือ เบอร์นสไตน์ นักสังคมนิยมเยอรมัน และแน่นอนการปฏิบัติย่อมมาก่อนการเสนอทฤษฏี ทฤษฏีถูกเสนอเพื่อรองรับสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว ดังนั้นเราจะเห็นว่า 20-30 ปีก่อนที่ เบอร์นสไตน์ จะเสนอทฤษฏีปฏิรูป พรรคสังคมนิยมปฏิรูปดังกล่าวได้เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ อย่างเดียวมานาน นอกจากนี้ เบอร์นสไตน เจาะจงอธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนเมื่อเขาเสนอว่า “กระบวนการมันสำคัญที่สุด มันเป็นทุกอย่าง แต่เป้าหมายปลายทางไม่มีความสำคัญเลย” คือลึกๆ แล้วเขาไม่สนใจว่าจะถึงสังคมนิยมหรือไม่ ขอให้ได้ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อนเถิด

รัฐทุนนิยม

สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์มีอิทธิพลยิ่งนักต่อจิตสำนึก ในยุคของ เบอร์นสไตน ยุโรปไม่ได้เห็นสงครามมาเกือบ 30 ปี และคนคิดว่ามันจะไม่มีอีก ในความเห็นของคนส่วนใหญ่อนาคตจะเป็นการพัฒนาสังคมที่ราบรื่นและสงบสุข ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ในปัจจุบัน หลังสงครามโลกสองครั้งและหลังการต่อสู้ด้วยอาวุธและความโหดร้ายเกินฝัน เรารู้ว่าความเชื่ออันนี้ผิดพลาดมหาศาล แต่ทำไมมันถึงผิด?

ในประการแรกมันเป็นความคิดที่มองข้ามบทบาทรัฐทุนนิยมในการเป็นองค์กรของคนถืออาวุธที่มีเป้าหมายปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ในประการที่สองมันเป็นแนวคิดที่ลืมว่าทุนนิยมมีพลังขับเคลื่อนมหาศาลในการแสวงหากำไรและการสะสมทุน ซึ่งพลังขับเคลื่อนนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ตลอดเวลา พูดง่ายๆ แนวคิดของพวกทฤษฏีปฏิรูปจะมองข้ามปัญหาจักรวรรดินิยมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของทุนนิยมยุคทันสมัย

ทุกวันนี้เราเห็นสองสิ่งนี้เบิกบานเต็มที่ ใครจะพูดได้อีกว่ามีแต่ "การพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" เมื่อเราเห็นความโหดร้ายของสถานการณ์ในบอสเนีย ไนจีเรีย หรือตะวันออกกลาง? นักสังคมนิยมที่วิจารณ์พวกทฤษฏีปฏิรูปไม่ได้ต่อต้านการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันเลย จริงๆ แล้วเราชาวนักปฏิวัติมักมีไฟในการต่อสู้เพื่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ประจำวันมากกว่าพวกที่อ้างการปฏิรูปอย่างเดียวด้วยซ้ำไป และที่สำคัญยิ่งคือ บ่อยครั้ง ชัยชนะในการได้การปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ มาจากการต่อสู้ในรูปแบบการปฏิวัติล้มระบบ

โรซา ลัคแซมเบอร์ค สาวปฏิวัติสังคมนิยมวัยอ่อนไฟแรงที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ เบอร์นสไตน์ อย่างถึงที่สุด เขียนเรื่องการต่อสู้ของสหภาพแรงงานว่าเสมือนงานของ "สิสิฟัส" คนในนิยายกรีกที่ต้องเข็นก้อนหินขึ้นภูเขาเพียงแต่เพื่อให้มันกลิ้งลงมาอีก วนเวียนอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ถ้าเราเอาตัวอย่างนี้มาเปรียบกับการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ มันอาจสุดขั้วไปหน่อย เพราะบ่อยครั้งในสังคมปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องถูกผลักดันให้ไปเริ่มต้นจากศูนย์ทุกครั้ง และแน่นอนเราต้องคอยปกป้องสิ่งที่เราได้มาจากการเรียกคืนของชนชั้นนายทุน ในขณะเดียวกันเราสามารถต่อสู้เพื่อความคืบหน้าบนรากฐานของสิ่งที่เราได้มาในรอบก่อนเหมือนกัน แต่ลึกๆ แล้วเราต้องเข้าใจด้วยว่าถ้าเราจะได้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มาในลักษณะถาวร เราต้องทำลายอำนาจของชนชั้นนายทุนในประเทศของเราและในระดับสากล

ปัจจุบันนี้เรื่องนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นทุกวัน ระบบทุนข้ามชาติสมัยใหม่ที่ปลอดการควบคุม ซึ่งมี ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก สหประชาชาติ และสนธิสัญญาทางทหารต่างๆ เป็นเครื่องมือ มันเป็นปีศาจที่เต็มไปด้วยพลังที่เราไม่สามารถค่อยๆ ดัดแปลงไปหรือปฏิรูปไปได้อย่างสงบ เราต้องทำลายมัน ตีให้มันตาย พวกนักปฏิรูปที่สืบทอดมรดกจากอดีต ซึ่งปัจจุบันเรียกตัวเองว่าพวกแนว "ทันสมัย" (เช่นนายก โทนี่ บแลร์ จากพรรคแรงงานในอังกฤษ หรือพวกคนเดือนตุลาในไทยรักไทย-บรรณาธิการ) ประกาศกับเราว่าเราต้องปรับตัวเข้ากับระบบปีศาจของทุนข้ามชาติอันนี้ นั้นหมายถึงการยอมให้มีการลดฐานะความเป็นอยู่ประจำวันในทุกแง่ นั้นหมายถึงการยอมให้ถูกขูดรีดหนักขึ้น และยอมให้ถูกกดขี่มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในสภาพปัจจุบันนักปฏิรูปล้วนแต่หมดกำลังใจที่จะปฏิรูปอะไรอีกต่อไปแล้ว

ทฤษฏีปฏิรูปมันเป็นแนวในกรอบรัฐชาติตลอดมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งทำให้แนวนี้เป็นแนวเพ้อฝัน ทุกวันนี้มันกลายเป็นเรื่องเหลวไหล แรงงานเด็กในเหมืองแร่ของลาตินอเมริกาสามารถทำลายการจ้างงานในเหมืองแร่ยุโรป โรงงานนรกในฟิลลิปปินส์สามารถกดมาตรฐานการทำงานในโรงงานอื่นๆ ทั่วโลก นั้นคือเป้าหมายของข้อตกลงการค้าเสรีขององค์กรการค้าระหว่างประเทศ (W.T.O.)

การต่อสู้เพื่อสิ่งเล็กๆ น้อย ประจำวันไม่ใช่สิ่งเดียวกับแนวคิดปฏิรูป การต่อสู้ประจำวันดังกล่าวสำคัญยิ่งนักสำหรับกรรมาชีพไม่ว่าจะในตะวันตก หรือในประเทศกำลังพัฒนา มันเป็นวิธีในการปลุกระดมกรรมาชีพ แต่เป้าหมายระยะยาวต้องเป็นเป้าหมายเพื่อการการปฏิวัติในลักษณะสากล