บทที่ 1 แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (ฉบับภาษาทันสมัย)

โดย คาร์ล มาร์คซ์ และ เฟรเดอริค เองเกิลส์

เรียบเรียงโดย วิภา ดาวมณี กตัญญู ดิเรกวุฒิกุล และจร โสภณศิริ

 

1.1 แนะนำ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (ฉบับภาษาทันสมัย)

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ถือได้ว่าเป็นคำประกาศนโยบายขององค์กร “สันนิบาตคอมมิวนิสต์” ที่ คาร์ล มาร์คซ์ และ เฟรเดอริค เองเกิลส์ เขียนขึ้นในปี 1848 ต้นกำเนิดของงานนี้เริ่มเมื่อ เองเกิลส์ เสนอว่าควรมีการเขียนหนังสือสั้นๆ เพื่อตอบคำถามว่า “ชาวคอมมิวนิสต์คิดอย่างไรเกี่ยวกับสภาพสังคมปัจจุบัน?” ดังนั้นหนังสือ แถลงการณ์ฯ เป็นหนังสือประกาศนโยบายของชาวมาร์คซิสต์ทั่วโลก และถึงแม้ว่าเวลาได้ผ่านไป 150 กว่าปีหลังจากที่หนังสือนี้แรกออกมา และหนังสือนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในภาษาต่างๆของมนุษย์อย่างทั่วถึงมากกว่าหนังสืออื่นใดในโลก แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ยังสอดคล้องกับจุดยืนชาวมาร์คซิสต์ในศตวรรษที่ 21

 

อย่างไรก็ตามเมื่อ "ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน" พิมพ์ แถลงการณ์ฯ ออกมาในปี ๒๕๔๑ และขายให้กรรมาชีพและคนทั่วไปอ่านในประเทศไทย ก็ได้มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าภาษาของหนังสือเล่มนี้แสนจะโบราณเข้าใจยาก! ดังนั้นในการตีพิมพ์ครั้งนี้ทีมงาน กปร. ได้พยายามปรับภาษาและเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นสำหรับคนยุคปัจจุบัน และมีการตัดส่วนที่ 3 "เอกสารสังคมนิยมและเอกสารคอมมิวนิสต์" ออกไป เนื่องจากเป็นการงานที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขียนเพื่อวิจารณ์แนวคิดสังคมนิยมอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ในยุคนั้นและไม่ค่อยสอดคล้องกับแนวซ้ายหลักๆ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน แต่ในการตีพิมพ์ แถลงการณ์ฯ ฉบับนี้ เราจำเป็นต้องฝากคำเตือนให้ท่านผู้อ่านว่า การปรับภาษาและเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นย่อมทำให้รสชาติของหนังสือเดิมหายไปบ้างและบางครั้งอาจมีการตีความตามแนวคิดของเราเองด้วย ดังนั้นเราแนะนำให้ท่านที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น จงกลับไปอ่านฉบับต่างๆ ที่เคยถูกแปลเป็นไทยในยุคหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และฉบับภาษาอังกฤษหรือภาษาเยอรมัน ถ้าเป็นไปได้ เพื่อให้ท่านได้เปรียบเทียบฉบับเดิมๆ กับฉบับนี้ แล้วท่านจะได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายอย่างชัดเจน เพราะเป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นเสมอ นั้นคือเรื่องของคำนิยาม “ชนชั้นกรรมาชีพ” ในมุมมองมาร์คซิสต์ ชนชั้นกรรมาชีพคือ ผู้ที่ไร้ปัจจัยการผลิต คือ “ลูกจ้าง” คือกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาวที่ทำงานในออฟฟิศ ครูบาอาจารย์ พยาบาล หรือลูกจ้างในห้างร้าน ฯลฯ และเมื่อท่านได้อ่านหนังสือ แถลงการณ์ฯ เล่มนี้จะเห็นการนิยามชนชั้นกรรมาชีพแบบนี้ในหลายจุดโดย มาร์คซ์ และเองเกิลส์

 

ชนชั้นกรรมาชีพคือหัวใจของสังคมนิยมมาร์คซิสต์ คาร์ล มาร์คซ์ และนักมาร์คซิสต์อื่นๆ ไม่ได้นั่งวิเคราะห์โลกเพื่อความสนุกสนานทางวิชาการ เราวิเคราะห์โลกเพื่อเปลี่ยนให้มันดีขึ้น และที่สำคัญเราวิเคราะห์โลกจากมุมมองผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ ผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมในศตวรรษใหม่นี้ ในที่สุดเราหวังว่าการวิเคราะห์ของชาวมาร์คซิสต์จะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการปลดแอกตนเอง สังคมนิยมสร้างไม่ได้ถ้าสร้างโดยคนส่วนน้อย ดังนั้นเพื่อแสดงจุดยืนตรงนี้ที่ชัดเจนของชาวมาร์คซิสต์ เราได้ตีพิมพ์คำนำที่เองเกิลส์เขียนไว้ในฉบับภาษาอังกฤษปี 1888 มาประกอบในที่นี้ด้วย

 

หนังสือ แถลงการณ์ฯ เริ่มต้นด้วยการพูดถึงความคัดแย้งทางชนชั้นที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์จนถึงการก่อตัวของทุนนิยม ต่อจากนั้นมีการชมระบบทุนนิยมว่ามีพลังมหาศาลและก่อให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของวิธีเลี้ยงชีพและโครงสร้างสังคมมนุษย์อย่างที่คนรุ่นก่อนคงนึกไม่ถึง แต่หลังจากนั้นมีการกล่าวถึงข้อเสียของทุนนิยมที่ทำลายความอบอุ่นของชีวิต และทั้งๆ ที่ทุนนิยมมีพลังการผลิตมหาศาลก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากกลไกตลาดและวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ภาพปัญหาของทุนนิยมไม่ควรทำให้เราหดหู่ เพราะทุนนิยมได้สร้าง "ผู้ขุดหลุมฝังศพ" ของทุนนิยมเอง ขึ้นมาท่ามกลางระบบ นั้นคือชนชั้นกรรมาชีพ สมัยใหม่ อย่างไรก็ตามชนชั้นกรรมาชีพจะไม่สามารถต่อสู้เพื่อชัยชนะของสังคมนิยมได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นส่วนท้ายของ แถลงการณ์ฯ จะเน้นจุดยืนที่ชาวสังคมนิยม (หรือชาวคอมมิวนิสต์) ควรนำมาใช้ในการต่อสู้ และความสำคัญของการสร้างพรรคของกรรมาชีพเพื่อบรรลุผลสำเร็จ

 

ในรอบ 70 กว่าปีที่ผ่านมา หลังความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ลัทธิมาร์คซ์ได้ผ่านยุคแห่งการบิดเบือนมหาศาลภายใต้แนวคิดของสำนัก สตาลิน-เหมา (ซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย) หลังจากที่แนวนี้และระบบ เผด็จการที่เป็น “ทุนนิยมโดยรัฐ” ได้ล่มสลายลงในรัสเซียและยุโรปตะวันออกในปี 1989 (ดูหนังสือ “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์” เล่ม 1 บทที่ 4) ศตวรรษใหม่นี้จะเป็นศตวรรษแห่งการรื้อฟื้นแนวคิดมาร์คซิสต์เพื่อก้าวต่อไปสู่โลกใหม่ที่ปลดแอกมนุษย์ นั่นคือ โลกแห่งสังคมนิยม... .

 

ในทุนนิยม ผลงานที่มนุษย์สร้างไว้ในอดีตกลับมาเป็นเจ้านายเหนือเรา

- อดีตครอบงำปัจจุบัน

แต่ในสังคมนิยม มนุษย์จะเป็นเจ้านายของผลงานที่เราสร้างไว้ในอดีต

- ปัจจุบันจะครอบงำอดีต

 

(มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ หน้า----)