เองเกิลส์ 1884

กำเนิดครอบครัวและการกดขี่ทางเพศ

โดย เฟรเดอริค เองเกิลส์ แปลโดย กุหลาบสายประดิษฐ์

คัดเลือกและเรียบเรียงใหม่โดย นุ่มนวล ยัพราช

รูปแบบครอบครัวของยุคบุพกาล
(จาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๕๒๔ หน้า 46-50)

รูปแบบของครอบครัวที่เป็นรูปแบบเก่าที่สุดและดั้งเดิมที่สุดในหมู่มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ เป็นรูปแบบที่คนในสมัยปัจจุบันไม่เคยรู้จักและยากที่จะนึกเห็นได้ รูปแบบของครอบครัวที่นักปราชญ์ได้คนพบว่ามีอยู่ในสมัยดึกดำบรรพ์นั้น มิใช่รูปแบบที่เป็นหน่วยเล็ก ๆ ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ รูปแบบของการสมรสที่เป็นบ่อเกิดของครอบครัวในยุคดึกดำบรรพ์โน้น เป็นรูปแบบการสมรสหมู่ (Group marriage) คือผู้ชายทั้งหมดและผู้หญิงทั้งหมดในหมู่มนุษย์ ที่รวมกันนั้นต่างก็เป็นผัวเป็นเมียของกันและกันเสมอหน้ากันหมด ด้วยรูปแบบการสมรสเช่นนี้ความริษยาหึงหวงในเรื่องเพศจึงยากที่จะเกิดขึ้นได้ในหมู่มนุษย์ได้ หมู่มนุษย์ทั้งหมู่จึงรวมกันเป็นครอบครัวอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพี่น้อง "สังคญาติ" กันไปทั้งหมด พวกผู้ใหญ่ชายหญิงต่างก็ถือว่า เด็ก ๆ ที่เกิดจากการสมสู่ของเขาทั้งหลายเป็นลูกเต้าของเขาทุกคน ความริษยาหึงหวงจึงเป็นเรื่องที่แทบจะไม่รู้จักกันเลย ในหมู่มนุษย์ปางดึกดำบรรพ์ ท่านนักปราชญ์ผู้สอบค้นเรื่องได้บันทึกไว้ว่า ความริษยาหึงหวงนั้น เป็นอารมณ์ที่ได้คลี่คลายออกมาจากหมู่มนุษย์ในปางหลัง

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงการสมสู่แบบสำส่อนของมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์นั้น ก็ควรเป็นที่เข้าใจด้วยว่า อาการสำส่อนนั้นหาใช่เป็นเรื่องที่ประพฤติปฏิบัติกันอย่างไม่เป็นส่ำ และเป็นอาจินก็หามิได้ การเลือกคู่ครองที่ต้องจิตต้องใจกันในหมู่คนป่าดึกดำบรรพ์เหล่านั้นทำด้วยความเต็มใจ และได้สมสู่อยู่ด้วยกันเป็นคู่ภายในระยะเวลาอันจำกัดก็ย่อมมีอยู่ภายใต้การสมสู่แบบสำส่อนนั้นด้วย

จากการสมสู่แบบสำสอนที่มนุษย์ชายหญิงในปางดึกดำบรรพ์ได้ปฏิบัติกันมา เพื่อความดำรงอยู่ยืนนานของเผ่าพันธุ์มนุษย์นี่เอง มอร์แกน (นักมนุษยวิทยา) ได้ศึกษาสอบค้นความคลี่คลายนี้ได้เป็นมาโดยลำดับ จึงสามารถลงความเห็นได้ว่าสืบต่อจากการสมสู่แบบสำส่อนอันปราศจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ นั้นแล้ว ก็ได้เกิดมีรูปแบบของครอบครัว ที่นับเอาทุกคนในหมู่เหล่าเป็นวงศ์วานว่านเครือกันทั้งหมด และมอร์แกนให้ชื่อรูปแบบของครอบครัวนี้ว่า ครอบครัวแบบสังคญาติ(Consanguine family)

ครอบครัวแบบนี้ นับว่าเป็นครอบครัวขั้นแรกของมนุษย์ที่ได้มีการวางระเบียบอย่างหลวม ๆ ขึ้นไว้บ้างแล้ว คือได้กำหนดการสมรสหมู่ไว้ตามรุ่นของบุคคลในหมู่นั้น ซึ่งในชั้นดั้งเดิมทีเดียว มิได้มีบทกำหนดกฎเกณฑ์อะไรลงไว้เลย ข้อกำหนดของครอบครัวแบบสังคญาติมีว่า พวกในรุ่นปู่ตาและย่ายาย ต่างก็เป็นผัวเป็นเมียกันทั้งหมด พวกรุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็นลูกชายหญิงของปู่ตาย่ายาย ต่างก็เป็นผัวเป็นเมียกันทั้งหมด และในทำนองเดียวกันลูกชายหญิงทั้งหมดของพ่อแม่ทั้งหมดต่างก็เป็นผัวเป็นเมียกัน และลูก ๆ ของลูกชายหญิงทั้งหมดก็ร่วมเป็นผัวเมียกันเป็นรุ่นที่สี่

ชายหญิงที่อยู่ต่างรุ่นกันจะทำการสมรสกันไม่ได้ บรรดาชายหญิงในรุ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทกัน หรือห่างกันก็ตาม ต่างถือว่าเป็นพี่เป็นน้องคลานตามกันมา และเพราะเหตุแห่งความเป็นพี่น้องสนิท ในรุ่นเดียวกันนี้ พี่น้องชายหญิงทุกคนต่างก็เป็นผัวเป็นเมียกันทั้งหมด เมื่อสรุปแล้วชายหญิงทั้งหมดในสี่รุ่นนี้ ซึ่งการสมรสหมู่ของเขาแบ่งออกเป็นสี่หมู่หรือสี่รุนต่างก็ประกอบกันเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งเรียกว่าครอบครัวแบบสังคญาติ ครอบครัวแบบสังคญาติอันเป็นรูปแบบครอบครัวขั้นแรกของมนุษย์นี้ ไม่มีหรือตกค้างอยู่ในโลกปัจจุบันอีกแล้ว

ความคลี่คลายในขั้นต่อมาของการสมรสหมู่ ได้ก่อให้เกิดครอบครัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งชาวพื้นเมืองของเกาะฮาวายเรียกกันว่า ครอบครัวแบบพิวนาลวน (Punaluan family) จากความคลี่คลายขั้นแรกเราได้ทราบว่า ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์มิให้พ่อแม่กับลูกชายหญิงสมรสกัน ในขั้นต่อมาคือขั้นครอบครัวแบบพิวนาลวนนี้ ได้มีข้อห้ามมิให้พี่น้องชายกับพี่น้องหญิงสมรสกัน ข้อห้ามการสมรสหมู่ ในบรรดาชายหญิงที่มีอายุไล่เลียกันนี้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าในขั้นสำคัญ และนับว่าเป็นเรื่องที่บรรลุความสำเร็จได้ยากด้วย การเปลี่ยนแปลงจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป ในขึ้นนี้การสมรสก็ยังคงเป็นการสมรสหมู่อยู่ กล่าวคือพี่น้องหญิงทั้งหมดคงเป็นเมียของผัวทั้งหมดที่เธอทั้งหมดมีอยู่ และผัวทั้งหมด ก็เป็นผัวของเธอแต่ละคนด้วย เว้นแต่พี่น้องชายของเธอเท่านั้น ที่เธอจะเป็นเมียหรือรับเขาเป็นผัวไม่ได้

โดยที่ได้มีห้าม มิให้พี่น้องชายหญิงสมรสกัน พวกผัวเมียหมู่ในครอบครัวแบบพิวนาลวนจึงมิใช่พี่น้องกันทั้งหมดดังแต่ก่อน คงเป็นพี่น้องกันแต่เฉพาะในฝ่ายผัวหรือฝ่ายเมียเท่านั้น ในกรณีของหมู่พี่น้องหญิง ซึ่งร่วมสมรสกับหมู่ชาย ที่มิใช่พี่น้องของเธอ บรรดาชายที่มิใช่พี่น้องกันและได้มาร่วมสมรสกับหญิงพี่น้องหมู่เดียวกัน บรรดาหญิงที่ไม่ใช่พี่น้องกัน และได้มาร่วมสมรสกับหมู่พี่น้องชายหมู่เดียวกัน ต่างก็เรียกกันว่า “พิวนาลัว

การสืบสายเลือดผ่านหญิง หรือสืบสิทธิทางมารดา (จาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๕๒๔ หน้า 56-59 )

เป็นที่เข้าใจกันว่า ในส่วนใหญ่แล้ว สถาบัน ชาติวงศ์ ได้มีกำเนิดมาจากครอบครัวแบบพิวนาลวนโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่รับรองกันว่า การสมรสหมู่ระหว่างหมู่ชนที่จัดไว้เป็นชั้น ๆ อันเป็นรูปแบบการสมรสของชาวพื้นเมือง ในทวีปออสเตรเลียนั้น ก็เป็นบ่อเกิดของสถาบันชาติวงศ์ด้วยเหมือนกันในหมู่ชนพื้นเมืองออสเตรเลียน มีเรือนร่างสังคมในรูปชาติวงศ์แต่รูปแบบครอบครัวของชาวทวีปออสเตรเลียยังไม่ก้าวมาถึงขึ้นครอบครัวแบบพิวนาลวน การสมรสหมู่ของคนเหล่านั้น ยังเป็นรูปแบบที่ขรุขระอยู่มาก

ข้อที่พึงสังเกต ในลักษณะของครอบครัวที่เกิดจากการสมรสหมู่ทุกรูปแบบ ก็คือ ใครเป็นบิดาของเด็กเป็นเรื่องที่รู้แน่ไม่ได้ แต่ในส่วนที่ว่าใครเป็นมารดาของเด็กนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันได้ ในครอบครัวที่ประกอบขึ้นจากการสมรสหมู่เช่นนั้น ถึงแม้สตรีแต่ละคน จะเรียกเด็กทุกคนในครอบครัวว่าลูกของเธอ และเธอต้องปฎิบัติภาระของมารดาต่อเด็กทุกคนก็ดีแต่เธอก็ทราบว่าเด็กคนไหนเป็นลูกที่เกิดจากอุทรของเธอ เพราะฉะนั้นในยุคที่การสมรสของมนุษย์ชายหญิง อยู่ในขั้นที่เป็นการสมรสหมู่นั้น เราจึงได้พบกฎเกณฑ์ที่สำคัญข้อหนึ่งว่า การที่จะทราบว่าเด็กเป็นลูกของใครนั้น จะสอบสวนได้ก็แต่ทางมารดาเท่านั้น ดังนั้นจึงมีแต่การสืบสายโลหิตทางฝ่ายหญิงเท่านั้น ที่รับนับถือกันในยุคนั้นการยอมรับนับถือ การสืบสายโลหิตของอนุชน แต่ทางฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว และความสัมพันธ์ในทางสืบมรดกจากทางมารดา ที่ได้อุบัติติดตามกันมานี้ นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ขนานนามว่า “สิทธิทางมารดา” (Mother right) กฎเกณฑ์เช่นนี้ได้มีอยู่ตลอดยุคของพวกคนป่า (Savagery) และยังได้ปรากฏต่อมาในยุคของอนารยชน (Barbarism) ตอนต้น การค้นพบในเรื่องนี้เป็นความสำเร็จอันใหญ่หลวงของ บัคโอเฟน (นักมานุษยวิทยา) อีกชิ้นหนึ่ง แต่ในทุกวันนี้ เราท่านรู้จักกันดีในเรื่องสิทธิอันกว้างใหญ่ไพศาลของสามีและในเรื่อง "ลูกไม่มีพ่อ" ทั้งที่แม่และพ่อต่างก็รู้ดีว่า พ่อคือใคร วัฒนธรรมของสมัยปัจจุบันอันไพโรจน์ จึงต่างกว่าวัฒนธรรมยุคคนป่า ในยุคคนป่าเด็กอาจไม่รู้จักพ่อแท้ ๆ ของตนว่าเป็นใคร แต่เด็กไม่ว้าเหว่ ทั้งยังอุ่นใจว่ามีผู้ใหญ่ทุกคนในครอบครัวเป็นพ่อและเป็นแม่ของตน

ณ บัดนี้ เราจะลองสำรวจดูขอบเขตของหมู่ชนที่ประกอบเป็นวงศ์วานว่านเครือหรือชาติวงศ์ ที่ มอร์แกน ใช้คำละตินว่า Gens หากเราสำรวจดูกลุ่มสมรสกลุ่มหนึ่ง ในกลุ่มมาตรฐานสองกลุ่มของครอบครัวแบบพิวนาลวน คือ กลุ่มที่ประกอบด้วยบรรดาพี่น้องหญิงชายที่สืบสายมาจากมารดาเดียวกัน และที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันรวมทั้งบรรดาบุตรชายหญิงทั้งหมดของเธอและบรรดาพี่น้องชายของเธอ (ซึ่งตามข้อห้ามพี่น้องชายเหล่านี้ มิใช่สามีของเธอ ) แล้ว เราก็จะได้ทราบอย่างแน่ชัดในเรื่องวงเขตของบุคคล ซึ่งในเวลาต่อมา ได้ประกอบกันเข้าเป็นชาติวงศ์หนึ่ง คนทั้งหมดที่ร่วมอยู่ในชาติวงศ์เดียวกันจะต้องสืบสายมาจาก บรรพสตรี คนเดียวกัน ลูกหลานหญิงของบรรพสตรีผู้นี้ ซึ่งได้สืบต่อกันมาแต่ละชั่วคน ได้ถูกนับว่าเป็นพี่น้องกัน โดยการสืบสายมาจากเธอผู้เป็นบรรพสตรี ส่วนสามีของบรรดาพี่น้องหญิงเหล่านี้ไม่อาจเป็นพวกพี่น้องชายของเธอได้อีกต่อไป ซึ่งหมายความว่า ไม่อาจเป็นบุคคลที่สืบสายมาจากบรรพสตรีผู้เดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงมิได้ถูกนับเป็นสมาชิกในวงศ์วานว่านเครือ ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งขึ้นในรูปชาติวงศ์ สำหรับลูกชายหญิงของเธอนั้น ได้ถูกต้อนรับเข้าไว้ในวงศ์วาน ทั้งนี้โดยอาศัยกฎเกณฑ์ที่ว่า การสืบสายญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ ให้ถือการสืบสายทางมารดาเท่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นทางเดียวที่จะทราบได้แน่นอน นับตั้งแต่ได้มีข้อห้ามอย่างหนักแน่น เกี่ยวกับการสมรส ระหว่างพี่น้องชายหญิงที่ร่วมมารดาเดียวกัน

จุดเปลี่ยนจากทรัพย์สินส่วนรวม มาเป็นส่วนตัว หายนะของมวลมนุษย์ (จาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๕๒๔ หน้า 86-98 )

ตั้งแต่เดิมมาจนกระทั่งถึงยุคอนารยชนขั้นต้น มนุษย์มีทรัพย์สินแต่โดยจำกัดคือว่ามีที่อยู่อาศัย มีเครื่องนุ่งห่ม มีเครื่องประดับที่ทำขึ้นด้วยฝีมืออย่างหยาบ ๆ มีเครื่องมือเกี่ยวกับการหาอาหาร และทำอาหารเช่นเรือ เครื่องมือที่ใช้เป็นอาวุธ และเครื่องมือในการครัวชนิดที่เป็นของธรรมดาสามัญอย่างที่สุด การแสวงอาอาหาร เป็นกิจที่จะต้องกระทำกันวันต่อวัน พอเริ่มวันใหม่ก็จะต้องออกไปหาอาหารมากินกันเป็นวัน ๆ ไป มนุษย์ในเวลานั้นยังไม่รู้จักการสะสมหรือคิดประกอบการต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีพเผื่อไว้วันหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความโลภของมนษย์ในยุคดั้งเดิมนั้นมีอยู่โดยจำกัดเมื่อผ่านยุคอนารยชนขึ้นต้นมาแล้วมนุษย์จึงรู้จักการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหารสำรองแต่นั้นมาจึงเกิดมี ฝูง ม้า อูฐ ลา แกะ แพะและหมู นี่แหละคือกำเนิดของโภคทรัพย์อันใหม่ และการสะสมทรัพย์สินก็ได้เริ่มมีขึ้นในหมู่มนุษย์ และก็แต่นั้นมาเหมือนกันที่โภคจริตของมนุษย์ได้รับการคลี่คลายขยายตัวออกไป

เผ่าชนที่มีความก้าวหน้าในการเลี้ยงชีพคือได้เริ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์ขึ้นนี้ อันได้แก่พวกอารยันในอินเดียและพวกเซมไม้ท์ (Semites ในสมัยโบราณ หมายถึงชาวบาบีโลเนี่ยน อัสซิเรียน โฟนิเชียน และยิว ในปัจจุบันหมายถึงยิวและอาหรับ) แถบแม่น้ำยูเฟรทีสและไทครีสนั้น ต่างก็ได้มาซึ่งโภคทรัพย์ใหม่ซึ่งลงแรงด้วยความเหนื่อยดังที่มนุษย์ซึ่งยังไม่รู้จักสัตว์ต้องดำเนินชีวิตกันมา แต่การใช้เวลาเลี้ยงดูให้ฝูงสัตว์ทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เนื้อที่ดีที่สุดตกกับเขา การแสวงหาอาหารที่ใช้กันมาก็ถดถอยไปอยู่แนวหลังซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยังชีพ บัดนี้ก็กลายเป็นการหาความสำราญฟุ่มเฟือยของมัน

ถ้าเราต้องการจะทราบว่าความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าในการกทำมาหากินของมนุษย์ อันเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของครอบครัวหรือฐานะของสตรีอย่างไรก็จะต้องถามว่า ทรัพย์สินในโลกที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ในสมัยที่มีการเลี้ยงสัตว์นี้ไปตกอยู่ในความครอบครองของใคร?

ในชั้นต้นทีเดียว ทรัพย์สินสิ่งใหม่เหล่านี้ ย่อมจะตกเป็นของตนไม่เป็นที่สงสัย คือเป็นของกลางซึ่งสมาชิกของชุมนุมได้ใช้สอยร่วมกัน แต่การครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวในกรณีที่เกี่ยวกับฝูงสัตว์เลี้ยงและได้คลี่คลายออกไป ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของการเลี้ยงสัตว์ด้วยเหมือนกันข้อที่รู้แน่กันข้อหนึ่งก็คือ ในสมัยที่ย่างเข้าสู่ยุคที่มนุษย์ได้มีประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานนั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะใช้แรงงานเพื่อเผ่าหรือโครตตระกูลทรัพย์สมบัติที่มีทั้งหมาด จะเป็นของกลุ่ม แม้ว่าปัจเจกบุคคลทั้งหญิงและชายจะมีเครื่องามือเครื่องใช้ที่เป็นสมบัติส่วนตัว แต่เมื่อตายลงสมบัติเหล่านั้นก็จะสืบทอดไปยังสมาชิกของเผ่าหรือกลุ่มที่เป็นเพศเดียวกัน ผู้ที่ได้รับสืบทอดไม่จำเป็นต้องเป็นลูกของผู้ตาย ในการตัดสินใจทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง สมาชิกทุกคนสามรถมีส่วนร่วมเท่ากันหมดไม่ว่าหญิงหรือชายทั้งสองเพศมีความเท่าเทียมกันเพราะต่างมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของกลุ่มตนเอง การทำงานทำเพื่อส่วนรวมและไม่มีการเก็บสะสมทรัพย์สมบัติส่วนตัว ทำให้ลักษณะงานของผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นงานผลิตและงานในครัวเรือนที่ต่างกันมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทั้งชายและหญิงต่างมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนที่แตกต่างกันของการผลิตประเภทเดียวกันคือการผลิตเพื่อยังชีพ

แต่ต่อมา เราได้พบว่าบรรดาหัวหน้าครอบครัวทั่ว ๆ ไป ต่างก็มีฝูงสัตว์เป็นส่วนสัดของตนเองรวมทั้งเครื่องใช้อื่น ๆ เป็นต้นว่าเครื่องใช้ในการประกอบอาหารที่ทำด้วยโลหะเครื่องใช้ประเภทฟุ่มเฟือย และในที่สุดยังมีทรัพย์สินอีกประเภทคือมนุษย์ที่มีสภาพเยี่ยงวัว ได้แก่พวกทาสนั่นเอง ก่อนที่จะมีส่วนเกินในสังคมมนุษย์ไม่มีใครสามารถเสพสุขจากงานของผู้อื่นได้ในขณะที่ตนเองไม่ทำงาน การถือเอามนุษย์เป็นทาสนั้น ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้น ในคราวที่มนุษย์เจริญก้าวหน้าในการหาเลี้ยงชีพนั่นเองถึงตรงนี้เราควรระลึกว่าสิ่งที่เรียกว่าความเจริญก้าวหน้าในการเลียงชีพของมนุษย์การส่งเสริมให้ชีวิตมนุษย์มีสะดวกสบายด้วยประการต่าง ๆ มิใช่จะพ้องกับความดีงามที่รับเอาไว้เป็นทางปฏิบัติเสมอ เราจะเห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าความสบายของชีวิตมนุษย์นั้นบางทีมาจากการกระทำอันชั่วร้ายน่าขยะแขยงอย่างที่สุดของมนุษย์นั่นเอง ความสะดวกสบายของชีวิตมนุษย์ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยมักจะได้มาจากการที่เอาชีวิตมนุษย์อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนมากมายมหึมา หมกลงไว้ภายใต้ความทุกข์ทรมาน แล้วมนุษย์ส่วนน้อยที่ได้รับความสุขสำราญความสะดวกสบายของชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมก็ร้องประกาศว่า นี่แหละคือความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ !

เราจะกลับไปสู่เรื่องของเราที่มาถึงตอนที่ว่าความเจริญก้าวหน้าในการหาเลี้ยงชีพของมนุษย์ได้นำมนุษย์ให้มารู้จักกับการถือเอามนุษย์ด้วยกันลงเป็นทาส ในขั้นต้นนั้นมนุษย์ยังไม่มีความคิดที่จะเอามนุษย์ด้วยกันลงเป็นทาสเพราะว่า แต่เบื้องบุพกาลมาจนถึงตอนต้นของยุคอนารยชน ทาสมนุษย์ยังไม่มีประโยชน์อะไรแก่การทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์เพราะว่า มนุษย์ยังไม่รู้จักการสะสมทรัพย์ ดังนั้นเมื่อคนป่าสองเผ่ารบกัน ฝ่ายที่มีชัยถ้าไม่ฆ่าศัตรูเสีย ก็รับเอาศัตรูเข้าร่วมเป็นพี่น้องในเผ่าพงศ์ของตนสำหรับผู้หญิงก็รับเอาไว้เป็นภรรยา กำลังแรงงานของมนุษย์ในยุคนั้นยังมิได้สร้างสิ่งของเครื่องใช้เหลือเฟือ นอกเหนือไปจากความต้องการที่จะครองชีพไปวันหนึ่ง ๆ

ตามประเพณีของสังคมในเวลานั้นเช่นเดียวกัน บุตรยังไม่มีสิทธิรับมรดกจากบิดาทั้งนี้เนื่องจากการสืบสายโลหติของเด็กมิได้นับจากบิดา หากนับจากบิดามารดาเป็นเกณฑ์ กล่าวสั้น ๆ ก็คือในเวลานั้นลูกยังเป็น “ลูกแม่” อยู่ ยังมิได้เป็น “ลูกพ่อ” อีกประการหนึ่งตามประเพณีการสืบมรดกของชาติวงศ์ อันมีมาแต่ดั้งเดิมนั้น เมื่อสมาชิกของชาติวงศ์ตายลง ญาติของผู้ตายที่ร่วมอยู่ในชาติวงศ์เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ทรัพย์สมบัติของผู้ตายจะต้องคงไว้ในชาติวงศ์ หากว่าทรัพย์สมบัติของผู้ตายมิใช่เป็นสิ่งของที่มีคุณค่าสำคัญอันใด ในทางปฏิบัติ ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็อาจจะตกได้แก่ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของผู้ตาย ซึ่งหมายถึงญาติที่สืบสายโลหิตทางมารดา สำหรับบุตรของผู้ตายนั้นมิได้สังกัดอยู่ในชาติวงศ์ของบิดา หากสังกัดอยู่ในชาติวงศ์ของมารดา ในชั้นต้นทีเดียว ผู้ที่เป็นบุตรได้รับมรดกของมารดา พร้อมทั้งญาติร่วมสายโลหิตของมารดา และในเวลาต่อมาผู้ที่เป็นบุตรบางทีจะมีสิทธิก่อนใคร ๆ ในการรับมรดกจากมารดา แต่เขาไม่อาจรับมรดกจากบิดา เพราะว่าเขามิได้ร่วมอยู่ในชาติวงศ์ของบิดาและทรัพย์สมบัติของบิดาจำต้องคงไว้ในชาติวงศ์ของบิดา เพราะฉะนั้นในกรณีที่ผู้ตายเป็นเจ้าของฝูงสัตว์ ในเบื้องต้นทีเดียว ฝูงสัตว์ของเขาจะได้แก่พี่น้องชายและพี่น้องหญิงของเขาและแก่บุตรของพี่น้องหญิง หรือแก่ผู้สืบสายของพี่น้องหญิงของมารดาผู้ตายส่วนบุตรของเขาเองไม่มีสิทธิ์จะได้รับมรดกจากเขาเลย

อย่างไรก็ดีความเพิ่มพูนขึ้นของโภคทรัพย์ได้เสริมสร้างฐานะของผู้ชายขึ้นสองทาง ในทางหนึ่งได้ทำให้ฐานะของผู้ชายในครอบครัวมีความสำคัญล้ำหน้าฐานะของผู้หญิงอันเป็นเหตุมาจากผู้ชายได้ครอบครองทรพยากรที่มีผลต่อศักยภาพในการผลิตเท่านั้น (ฝูงสัตว์เลี้ยง) และ อีกทางหนึ่งเมื่อผู้ชายได้สำนึกในความสำคัญของตน ซึ่งถูกเชิดชูขึ้นมาจากการที่ได้ครอบครองทรัพย์แล้ว ผู้ชายก็มีความกำเริบ คิดเลิกล้างขนบประเพณีการสืบมรดกที่มีอยู่เดิม คือคิดจะให้ทรัพย์สมบัติของตนเป็นของลูก แต่ความคิดข้อนี้ไม่อาจดำเนินไปได้ ตราบใดที่สายโลหิตของบุตรยังคงนับจากมารดาอยู่ ดังนั้นผู้ชายจึงได้คิดเลิกล้างประเพณีการสืบสายโลหิตเสียก่อน และเขาก็ได้จัดการให้เป็นไปตามปรารถนาของเขาได้โดยไม่ยาก จึงได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงภายในครอบครัวให้มีโครงสร้างภายในของครอบครัวต่างจากโคตรตระกูลตรงที่ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะประกอบไปด้วยผู้หญิงและเด็กที่ไม่มีทรัพย์สิน และต้องพึ่งพิงหัวหน้าครอบครัว เหตุอันนี้ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสังคมส่วนใหญ่อย่างสิ้นเชิง

ครอบครัวแบบพ่อบ้าน เป็นหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวแบบมีคู่ไปสู่ครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว ในสมัยของครอบครัวแบบพ่อบ้านนั้น เป็นสมัยที่ผู้ชายได้ขึ้นสู่การเถลิงอำนาจอันสูงสุดมีส่วนเกินมากกว่าความต้องการบริโภค จึงได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยการผลิต เมื่อเวลาผ่านนานไปผลผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยนได้ทวีความสำคัญขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้น จนได้ลดทอนความสำคัญของของการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน ผู้หญิงได้ตกอยู่ในกรงเล็บของผู้ชายอย่างไม่มีทางกระดิกกระเดี้ยต้องทำงานอยู่ภายในบ้านที่มีขอบเขตเพื่อลูกและสามี แทนที่จะเป็นการทำงานอันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดิม เพื่อเป็นหลักประกันความจงรักภักดีของภรรยาต่อสามีตลอดกาล หรือนัยหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นพ่อของบุตร จึงมีประเพณีให้ภรรยาต้องมอบตัวอยู่ใต้อำนาจสิทธิขาดของสามีหากหัวหน้าครอบครัวฆ่าภรรยาของเขาก็ไม่ถือว่าเป็นฆาตกรรมแต่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิของเขาในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น

ขั้นตอนของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยการผลิต (จาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๕๒๔ หน้า 146-149)

เมื่อมาถึงสมัยของการผลิตในระบบทุนนิยม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าไปหมด คือเป็นเรื่องของการซื้อการขายกันไปหมดนั้น ก็ได้เกิดมีการทำสัญญาโดยเสรีหรือโดยความสมัครใจของคู่กรณีเข้ามาแทนที่ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา การทำสัญญาโดยเสรีนี้ เป็นการสมมุติเอาว่าคู่กรณีที่เข้าทำสัญญาต่อกันนั้นมีฐานะเสมอกัน การสร้างสรรบุคคล "เสรี" และมีฐานะ "เสมอ" กันนี้เป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของสมัยการผลิตในระบบทุนนิยม หลักการในเรื่องนี้มีอยู่ว่าบุคคลจะต้องรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงต่อการกระทำของเขา ก็ต่อเมื่อเขาได้อยู่ในฐานะอันมีอิสระเต็มที่ที่กระทำการนั้น ๆ และย่อมถือว่าการบังคับทั้งปวงให้เขาต้องกระทำเป็นการที่ไร้ศีลธรรม

อย่างไรก็ดี การสมรสของพวกกระฎุมพีก็ยังคงเป็นการสมรสในระหว่างชนชั้นเดียวกัน และภายในชนชั้นของตนนั้นหนุ่มสาวมีอิสระพอควรในการเลือกคู่ครอง อนึ่งได้มีการบัญญัติทฤษฎีทางศีลธรรมไว้บนกระดาษอย่างแน่นหนาว่า การสมรสทุกราย ที่ปราศจากความรักระหว่างเพศและที่ได้ประกอบขึ้น โดยปราศจากความตกลงปลงใจอันแท้จริงของคู่สมรส ย่อมถือว่าเป็นการสมรสที่ไม่ชอบด้วยศีลธรรม กล่าวสั้น ๆ ก็คือ ได้มีประกาศรับรู้ การสมรสรสด้วยความสมัครรักใคร่ของคู่สมรสเป็นสิทธิ์อันหนึ่งของมนุษย์ และก็มิใช่เป็นแต่สิทธิ์ของผู้ชายเท่านั้น แต่เป็นสิทธิของผู้หญิงด้วย

แต่ว่าสิ่งที่รองรับกันว่าเป็นสิทธิ์ของมนุษย์ข้อนี้มีความแตกต่างกับสิ่งที่เรียกว่าสิทธิ์ของมนุษย์ข้ออื่น ๆ อยู่ประการหนึ่งกล่าวคือในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ข้ออื่น ๆ นั้น “ในทางปฏิบัติผู้ที่ได้เสวยสิ่งที่เรียกว่า สิทธิของมนุษย์จริง ๆ นั้น จำกัดอยู่ในวงของชนชั้นปกครองได้แก่เหล่ากระฎุมพีเท่านั้น ส่วนหมู่คนอีกมากหลายที่อยู่ภายใต้การปกครอง อันเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบของเหล่ากระฎุมพีนั้น สิทธิของมนุษย์ของบุคคลเหล่านั้นก็ถูกพรากเอาไปเสีย ไม่โดยตรงก็โดยทางออ้ม” แต่ในกรณีสิทธิของมนุษย์ในเรื่องการสมรสนี้ พวกชนชั้นปกครองหรือกระฎุมพีเอง กลับถูกอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้าครอบงำไว้ จนไม่อาจเสวยสิทธิของมนุษย์ในเรื่องการสมรสที่ได้ประกาศยกย่องขึ้นไว้ เพราฉนั้นในสมัยที่พวกกระฎุมพี ได้ครองความเป็นใหญ่ในสังคม การสมรสของคนพวกนี้ที่เป็นไปด้วยความสมัครรักใคร่ของคู่สมรสจริง ๆ ก็มีแต่ในกรณีที่ถือว่าเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น แต่ในบรรดาบุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกกระฎุมพี การสมรสด้วยความสมัครรักใคร่ของคู่สมรสกลับปรากฏว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของหมู่ชนเหล่านั้น ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้ความครอบงำของอิทธิพลทางเศรษฐกิจดังที่พวกกระฎุมพีผู้เป็นชนชั้นปกครองได้ตกอยู่

กำเนิดชนชั้นก่อให้เกิดรัฐ

ในขณะเดียวกันที่เพศหญิงตกอยู่ภายใต้อำนาจของเพศชาย ผู้ชายทุกคนไม่ได้มีความเสมอภาคซึ่งกันและกัน นอกจากความแตกต่างกันในฐานะของมนุษย์ระหว่างผู้ที่เป็นอิสระชน และผู้ที่เป็นทาสอันได้มีอยู่แล้ว มาถึงนี้ก็ได้มีความแตกต่างในฐานะของมนุษย์เพิ่มขึ้นใหม่อีกประการหนึ่งคือความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจน และพร้อมกับที่มีการแบ่งงานในรูปใหม่ ก็ได้มีการแบ่งชนชั้นอันใหม่เกิดขึ้นในสังคม การที่บรรดาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้เข้าเป็นเจ้าของโภคทรัพย์เป็นส่วนสัดส่วนตัว แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ได้เป็นสาเหตุให้ประชาคมหรือชุมนุมชน ที่ประกอบขึ้นในรูปครัวเรือนแบบสหชีพที่ยังคงเหลืออยู่ในสมัยนั้นต้องสลายลง การร่วมกันทำงานเพาะปลูก บนผืนแผ่นดินเดียวกันเพื่อประโยชน์ของชุมชนก็เป็นอันสลายตามไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการครอบครองที่ดิน จากการครอบครองโดยหมู่ชน ไปสู่การครอบครองส่วนบุคคลโดยสิ้นเชิงนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของครอบครัวจากการสมรสหมู่ไปสู่การสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียวการทำให้มีหน่วยเศรษฐกิจของสังคมในรูปของครอบครัวแต่ละครอบครัว ระบชาติวงศ์ได้ถูกทำลายโดยการแบ่งงานกันทำในระหว่างสมาชิกของชาติวงศ์และโดยผลของการแบ่งงานนั้นเอง อันได้แก่การแบ่งสังคมออกเป็นชนชั้น สิ่งที่เข้ามาสวมตำแหน่งแทนระบบชาติวงศ์นั้น คือ รัฐ

กำเนิดรัฐของสังคมมนุษย์ (จาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๕๒๔ หน้า 372-376)

ในบัดนี้เราทราบว่าสิ่งที่เรียกว่ารัฐนั้น มิใช่อำนาจที่อุบัติขึ้นในสังคมโดยการผลักดันมาจากภายนอกแต่อย่างใด อีกทั้งมิใช่เป็น "ความจริงแท้ของอุดมคติทางศีลธรรม" หรือ "มโนภาพและความจริงแท้ของเหตุผล" ดังที่ปราชญ์บางท่านได้แสดงมิติไว้ ความจริงนั้นรัฐเป็นผลิตผลของสังคมตามความคลี่คลายของสังคมในขั้นหนึ่ง การอุบัติของรัฐเป็นการยอมรับว่าสังคมนี้ ได้นำตนเข้าไปพัลวันกับการขัดแย้งต่าง ๆ ที่ไม่อาจแก้ให้ตกได้ เป็นการยอมรับว่าสังคมนี้ได้แตกแยกออกไปเป็นขมิ้นกับปูน จนไม่อาจจะสมัคสมานให้กลับคืนดีได้ เพื่อที่จะป้องกันมิให้ความเป็นปรปักษ์ต่อกัน และชนชั้นที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขัดแย้งกัน ผลาญกันเองและผลาญสังคมในการต่อสู้ที่ไร้ประโยชน์นั้น จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องสถาปนาอำนาจอันหนึ่งไว้เหนือสังคม ด้วยความประสงค์ที่จะให้อำนาจนั้นเข้ามาจัดการลดหย่อนความรุนแรงของการปะทะกัน และจัดการให้ประทะกันได้อยู่ในขอบเขตของระเบียบข้อบังคับ อำนาจอันใหม่นี้ซึ่งอุบัติขึ้นมาภายในสังคมนั้นเอง แต่ก็ได้จัดตั้งตัวเองไว้เหนือสังคม และทำตนห่างเหินจากสังคมยิ่งขึ้นเป็นลำดับก็คือ รัฐ นั้นเอง อำนาจของรัฐจะมีการจัดตั้งที่เข้มแข็งขึ้นตามลักษณะของความขัดแย้งทางชนชั้นที่ทวีขึ้น เช่น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ เพื่อข่มขวัญผู้อยู่ใต้ปกครอง เครื่องมือที่เป็นสถาบันเหล่านี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ซึ่งก็นำมาจากพลเมืองที่สังกัดรัฐที่เรารู้จักกันดีว่า "ภาษี" จัดเก็บโดยบรรดาพวกที่เป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งเรียกว่าข้าราชการ ก็ได้เป็นองค์กรของสังคมที่มีฐานะอยู่เหนือสังคม พวกนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน โดยบัญญัติลงไว้ในกฎหมายพิเศษ อันจะช่วยเสริมฐานะให้คงอยู่และใครจะล่วงละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐใดที่สามารถอ้างได้ว่าเป็นกลาง อยู่เหนือสังคม และไม่เข้าข้างชนชั้นใดย่อมเป็นเครื่องมือที่ดีเลิศของชนชั้นปกครอง

สู่เสรีภาพของสตรี

การณ์เป็นดังนี้ เราจึงเห็นได้แล้วว่า การที่จะปลดเปลื้องผู้หญิงให้หลุดพ้นออกมาจากความเป็นเบี้ยล่างของผู้ชาย และให้เธอได้มาซึ่งความเสมอภาคกับผู้ชายนั้น ย่อมเป็นสิ่งพ้นวิสัยที่จะแก้ไขเฉพาะจุดเสียแล้ว และผู้หญิงก็จะต้องคงอยู่ในฐานะอันต่ำต้อยเช่นนั้นสืบต่อไป ตราบเท่าที่ผู้หญิงได้ถูกกันออกไปจากระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสังคม (Social production ) และถูกกำหนดกรอบให้ทำงานแต่เฉพาะที่เป็นงานบ้านเท่านั้น การที่หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบการผลิตของสังคมจะอำนวยโอกาสให้ผู้หญิงได้มีความอิสระจากชาย แต่นี่เป็นแค่ประตูสู่เสรีภาพของสตรีอย่างแท้จริงเท่านั้น (กุหลาบ ๒๕๒๔ ; 349)

 

การปลดเปลื้องผู้หญิงให้พ้นจากฐานะอันต่ำต้อย จะมีทางเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงได้รับโอกาสเข้าร่วมมีส่วนในการผลิตที่เป็นงานขนาดใหญ่คือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสังคม และในระบบการแลกเปลี่ยนที่ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถควบคุมแรงงานของอีกฝ่ายได้ ส่วนงานในหน้าที่แม่บ้านนั้น ต้องจำกัดตัดทอนลงมาให้เหลือขนาดที่เบาจนถือได้ว่าเป็นงานส่วนเล็กน้อย เพราะในขณะนี้มูลค่าแรงงานส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่เลี้ยงดูกรรมาชีพรุ่นต่อไปถูกละเลยไม่คิดมูลค่าโดยผลักให้เป็นภาระงานในบ้าน ดั้งนั้นต้องหาทางที่จะแปรเปลี่ยนงานบ้านต่าง ๆ ให้เป็นงานสาธารณะ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นงานที่รัฐจะต้องรับภาระแบ่งเบาจากสตรีปัจเจกผู้เป็นแม่บ้าน และสังคมต้องร่วมรับผิดชอบในทางปฏิบัติ เช่นต้องมีโรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร โรงสักผ้า ฯลฯ ของสังคม รูปการณ์เช่นนี้มีทางเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อได้จัดให้มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดังที่รูปแบบของระบบทุนนิยมได้สร้างมันขึ้นมาในปัจจุบัน แต่เป้าหมายการผลิตเพื่อสังคมต้องมิใช่ผลิตเพื่อสนองกำไรของคนส่วนน้อยอย่างที่เป็นอยู่ในระบบทุนนิยม ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนระบบการผลิตและลักษณะรัฐให้เป็นรูปแบบสังคมนิยม

อนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมปัจจุบันเรียกร้องต้องการ การเข้ามามีส่วนของผู้หญิงในภาคการผลิตมากมาย

สิ่งนี้มีผลทำให้หญิงทั่วโลกเริ่มอิสระจากชาย ซึ่งมีผลในด้านความคิด กระแสความคิดใหม่ในยุคความอิสระของสตรีนี้เริ่มเรียกร้องความเสมอภาคและเป็นต้นกำเนิดของ “ขบวนการสิทธิสตรี” สมัยใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน ระบบการขูดรีดแรงงานของทุนนิยมกำหนดอย่างไม่หยุดยั้งว่าต้องมีการหาทุกวิธีทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพื่อเพิ่มอัตรากำไร สิ่งนี้จะขัดแย้งอย่างถึงที่สุดกับการเรียกร้องให้ทรัพยากรของสังคมถูกนำมาใช้เพื่อปลดปล่อยหญิงทั้งหมดจากภาระงานบ้าน พูดง่ายๆ นายทุนไม่พร้อมและไม่สามารถจะสละกำไรเพื่อสร้างระบบสังคมที่ "ภาระบ้าน" ทั้งหมดกลายเป็นภาระของสังคมโดยรวม ดังนั้นกระแสความคิดที่สำคัญที่ขัดแย้งและดำรงอยู่ควบคู่กันไปกับแนวคิดสิทธิสตรีในยุคปัจจุบันคือ "การปกป้องสถาบันครอบครัว" ในรูปแบบผัวเดียวเมียเดียวที่หญิงต้องรับผิดชอบภาระส่วนใหญ่ของงานบ้านในลักษณะปัจเจก

ที่ผ่านมาสถานภาพของผู้หญิงกลายเป็นรองและจำกัดบทบาทอยู่ภายในบ้านภายใต้อำนาจชายพร้อมกับพัฒนาการของการถือครองทรัพย์สมบัติส่วนตัวและการกำเนิดชนชั้น การผลิตอันไม่ใช่เพื่อตอบสนองการบริโภควันต่อวันได้เป็นบ่อเกิดของระบบสังคมอันอยุติธรรม สังคมแห่งชนชั้น แต่ถ้าจะปลดปล่อยผู้หญิงออกจากการกดขี่ในปัจจุบันเราไม่ต้องการย้อนยุคกลับไปสู่ยุคบุพการ เราต้องการให้ผู้หญิงทุกคนมีส่วนร่วมในการผลิตของสังคมเท่าเทียมกับเพศชายทุกคน หรืออีกนัยหนึ่งคือการได้สิทธิในการร่วมกันครอบครองปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมีการยกเลิกระบบการผลิตแบบชนชั้นแบบทุนนิยม ต้องยกเลิกรัฐของทุนนิยม และต้องมีการต่อสู้ของมนุษย์ทั้งชายและหญิงเพื่อการปลดปล่อยตนเองจากทัศนะคติความเชื่อต่างๆ ที่กดขี่ผู้หญิงและผู้ชายอันเป็นปราการหลักที่คอยพิทักษ์ระบบเดิมเอาไว้ เราต้องก้าวต่อไปเพื่อสร้างสังคมแห่งเสรีภาพของมวลมนุษย์ที่แท้จริง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเราไม่สามารถรอให้ใครมาสร้างให้เราได้ ชนชั้นกรรมาชีพต้องกำหนดโลกใหม่ของเราเอง

 

เองเกิลส์เคยเขียนไว้ว่า... .

“แนวโน้มเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศจะเป็นไปในทิศทางใดถ้าเรามีสังคมใหม่ที่เราร่วมกำหนด? สิ่งใดที่จะถูกยกเลิกหลังจากที่ได้มีการล้มล้างระบบทุนนิยมไป? อะไรใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา? คำถามเหล่านี้จะถูกตอบโดยคนอีกรุ่นหนึ่งที่เติบโตขึ้นจากวิถีการผลิตแบบใหม่ ชายรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักการซื้อขายหญิงด้วยเงินตราหรือตำแหน่ง ยศศักดิ์ และอำนาจทางสังคม หญิงรุ่นใหม่ที่รู้จักการมอบกายให้กับชายโดยมีเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ “ความรัก” ยิ่งกว่านั้นเธอจะไม่รู้จักความกลัวว่าถ้าไม่ยอมกระทำตามความต้องการของชายที่ตนรัก จะมีผลร้ายที่ต้องเผชิญทางด้านเศรษฐกิจ

และเมื่อคนเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นเต็มโลกใบใหม่ เขาจะไม่สนใจว่าคนยุคอดีตจะมองพฤติกรรมของเขาเช่นไร พวกเขาจะกำหนดประเพณีการปฏิบัติ ค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมใหม่ขึ้นมากลายเป็นวัฒนธรรมที่รับใช้มนุษย์อย่างแท้จริง"

(Engels 1978: 96)

จาก

กุหลาบ สายประดิษฐ์ (๒๕๒๔) "กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์" สำนักพิมพ์ก่อไผ่ กรุงเทพฯ

Engels, Frederick (1978) “The origin of the family private property and the state.” Foreign Language Press, Peking.