ทุนนิยมโดยรัฐ

ความจำเป็นในการพัฒนาทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของตรอทสกี

การปฏิวัติถาวร “หันเห”

โดย โทนี่ คลิฟ

ความขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนในประเทศที่ด้อยพัฒนา (ประเด็นแรกของตรอทสกี) เป็นกฏที่ยังยืนอยู่ แต่ลักษณะแนวคิดปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่พึ่งจะเกิดใหม่ในประเทศเหล่านี้ (ประเด็นที่สองของตรอทสกี) ไม่ใช่เรื่องอัตโนมัติ สาเหตุที่กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอาจจะยังไม่คิดปฏิวัติคงหาได้ไม่ยาก การครอบงำจากความคิดหลักในสังคม การที่กรรมาชีพเหล่านี้ยังผูกพันกับสังคมอดีตของชนบท การที่เขาเป็นคนไร้ประสบการณ์ในการต่อสู้แบบกรรมกร และระดับการศึกษา ล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวอย่างเอกภาพของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งความอ่อนแอตรงนี้มักนำไปสู่ความอ่อนแออีกระดับหนึ่ง คือกรรมาชีพจะไปพึ่งการนำจากคนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานในอินเดียมักถูกนำโดย "คนภายนอก" ที่มีการศึกษา หรือในบางประเทศสหภาพแรงงานบางแห่งจะพึ่งพิงรัฐ การพึ่งพิงรัฐก่อให้เกิด "ลัทธิสหภาพ" หรือการเคลื่อนไหวในขอบเขตที่ถูกจำกัดโดยกฏหมายของชนชั้นผู้ปกครอง

อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอก็คือ กิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาในประเทศเหล่านั้น ซึ่งลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเชิดชูลัทธิชาตินิยม และการประนีประนอมระหว่างชนชั้นใน "แนวร่วมรักชาติ"

ในเมื่อความคิดปฏิวัติของกรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาไม่ใช่สิ่งอัตโนมัติ ในประเทศเหล่านี้อาจเกิดการปฏิวัติที่ล้มสามารถล้มระบบอาณานิคม และทำลายความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบฟิวเดิล เพื่อสถาปนาระบบทุนนิยมและเอกราชของประเทศได้ ซึ่งไม่ได้นำโดยชนชั้นกรรมาชีพเลย สาเหตุที่เกิดภาวะ เช่นนี้มี 3 สาเหตุหลักคือ

1) ความอ่อนแอของจักรวรรดินิยมเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจต่างๆ และความอัมพาตที่จะแทรกแซงในประเทศด้อยพัฒนาโดยใช้กำลังทหาร เนื่องจากการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งสองฝ่ายในสงครามเย็นทำให้การต่อสู้เพื่อเอกราชง่ายขึ้น

2) ความสำคัญของรัฐในการพัฒนาระบบการผลิตในประเทศล้าหลังในระยะเริ่มแรก เนื่องจากนายทุนเอกชนอ่อนแอและไม่มีความสามารถที่จะพัฒนาสังคมจากสภาพการเป็นอาณานิคมที่ด้อยพัฒนา มีผลทำให้ลัทธิรัฐนิยมที่ใช้ในการพัฒนาประเทศเป็นที่ชื่นชมในหมู่ปัญญาชนมากกว่าลัทธิเสรีนิยมของนายทุนเอกชน

3) ความสำคัญของปัญญาชนในการเป็นผู้นำของสังคมในประเทศด้อยพัฒนาแทนกลุ่มอื่นๆในสังคม รูปแบบการเป็นผู้นำของปัญญาชนเหล่านี้จะแตกต่างจากรูปแบบปัญญาชนที่เป็นผู้นำพรรคปฏิวัติกรรมาชีพ เช่นพรรคบอลเชอร์วิคในรัสเซีย เพราะในกรณีพรรคบอลเชอร์วิค ตัวองค์กรเป็นองค์กรจัดตั้งของคนงานพื้นฐาน ฉะนั้นผู้นำทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรหรือปัญญาชน จะต้องรับผิดชอบและขึ้นอยู่กับมติและความเห็นชอบของมวลกรรมาชีพในองค์กรจัดตั้ง คือพูดง่ายๆมวลชนกรรมาชีพจะควบคุมผู้นำของตนได้ตลอด ซึ่งตรงข้ามกับปัญญาชนที่เข้ามานำขบวนการชาวนาที่ไร้การศึกษาในประเทศล้าหลัง เพราะในกรณีนี้ผู้นำที่เป็นปัญญาชนมักจะนำขบวนการในรูปแบบวีรชนที่ไม่ต้องรับผิดชอบหรือถูกควบคุมจากชาวนาเลย นี่คือลักษณะเด่นของการนำในพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศเอเซียโดยเฉพาะการนำของเหมา เจ๋อ ตุง ในจีน

การปฏิวัติถาวร “หันเห”

ในกรณีที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถรวมตัวเป็นพรรคปฏิวัติที่เข้มแข็งได้ กลุ่มชนชั้นกลุ่มอื่น (เช่นปัญญาชนที่นำชาวนาหรือคนยากจน) จะสามารถยึดอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาและสถาปนา “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” แทนระบบสังคมนิยม หรือระบบทุนนิยมตลาดเสรี และในการสถาปนาระบบทุนนิยมโดยรัฐเขาจะสามารถแก้ปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นและปัญหาของความล้าหลังของระบบการผลิตในประเทศของเขาด้วย นี่คือการปฏิวัติถาวรประเภท "หันเห" เพราะเป็นการปฏิวัติแก้ความล้าหลังที่ไม่ได้มาจากชนชั้นนายทุนและไม่ได้มาจากชนชั้นกรรมาชีพ และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติแบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปลดแอกกรรมาชีพจากการถูกขูดรีดแรงงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการปฏิวัติในประเทศจีนและประเทศคิวบา

ในประเทศจีนชนชั้นกรรมาชีพไม่มีส่วนในการปฏิวัติแต่อย่างใดเลย:

เราหวังว่ากรรมกรและพนักงานต่างๆ คงจะทำงานต่อไปอย่างปกติ
เจ้าหน้าที่ของพรรคกัวมินตั๋งในทุกระดับ และตำรวจ จะต้องทำหน้าที่ต่อไป และเชื่อฟังคำสั่งจากกองทัพปลดแอกประชาชนและรัฐบาลประชาชน

หน่วยข่าวจีนใหม่ 11 ม.ค. 1949

ในกรณีคิวบาผู้นำการปฏิวัติปฏิเสธการมีส่วนร่วมของชนชั้นกรรมาชีพ โดยสิ้นเชิง:

การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างกรรมาชีพและนายทุน ชนชั้นกรรมาชีพในเมืองไม่มีจิตสำนึกในการปฏิวัติแต่อย่างใด

ฉะนั้นภาระหน้าที่หลักของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศที่มีการปฏิวัติถาวรชนิดหันเห ที่นำไปสู่ระบบทุนนิยมโดยรัฐ คือการต่อสู้อย่างไม่ประนีประนอมกับชนชั้นปกครองใหม่เพื่อปฏิวัติสังคมนิยม โดยที่ไม่หลงเชื่อว่าชนชั้นปกครองใหม่เป็นตัวแทนของตน

หัวใจสำคัญของทฤษฏีปฏิวัติถาวรที่ ลีออน ตรอทสกี เสนอ ยังใช้ได้อยู่ คือกรรมาชีพต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองอย่างไม่หยุดยั้งหรือประนีประนอม และต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบนี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันปลดแอกตัวเอง

(แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์)