ตรอทสกี ทฤษฏีปฏิวัติถาวร

2. การปฎิวัติถาวรคืออะไร ?

สรุปจุดสำคัญ

โดย ลีออน ตรอทสกี

1. ทฤษฎีการปฎิวัติถาวรเป็นทฤษฎีที่ชาวมาร์คซิสต์ทุกคนควรศึกษา เนื่องจากความขัดแย้งทางความคิดและการต่อสู้ทางชนชั้นได้เปลี่ยนเรื่องนี้ จากเรื่องของข้อขัดแย้งในหมู่นักลัทธิมาร์คซ์ชาวรัสเซียในอดีต ไปเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลักษณะ ความสัมพันธ์ภายใน และวิธีการของการปฏิวัติสากล

2. ในประเทศที่มีการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ล้าหลัง โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรมีความสำคัญตรงที่ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ภายใต้เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น และชนชั้นนำจะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่มวลชาวนา

3. ปัญหาของระบบเกษตรกรรม และปัญหาของเอกราชในประเทศล้าหลัง มีผลทำให้ชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญ ถ้าไม่มีแนวร่วมระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชาวนา ภาระของการปฏิวัติประชาธิปไตยจะไม่บรรลุความสำเร็จ แต่แนวร่วมนี้จะต้องสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการต่อสู้อย่างไม่มีวันประนีประนอมกับอิทธิพลของนายทุนรักชาติเสรีนิยม

4. ไม่ว่าการปฏิวัติในประเทศหนึ่งจะมีขั้นตอนแตกต่างกันอย่างไร การสร้างแนวร่วมระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชาวนาต้องสร้างภายใต้การนำของกรรมาชีพที่ก้าวหน้าที่สุด ซึ่งจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นชัยชนะของการปฏิวัติประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมีเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพที่มีพื้นฐานจากแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและชาวนาเพื่อแก้ปัญหาของการปฏิวัติประชาธิปไตย ก่อนอื่นใด

5. คำขวัญเก่าของพรรคบอลเชอร์วิคที่พูดถึง "เผด็จการประชาธิปไตยของกรรมาชีพและชาวนา" มีความหมายจริงดังที่เขียนไว้ข้างต้น ประสบการณ์ของการปฏิวัติเดือนตุลาคมยืนยันตรงนี้ แต่สูตรเก่าของเลนินไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าความสัมพันธุ์ระหว่างกรรมาชีพกับชาวนาจะเป็นไปอย่างไรในแนวร่วมปฏิวัติ สูตรเก่าของเลนินเปิดช่องว่างให้ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า ถึงแม้ว่าชาวนาอาจมีบทบาทสูงในการปฏิวัติ แต่บทบาทนี้เป็นบทบาทอิสระและบทบาทในการนำไม่ได้ ชนชั้นชาวนาจะตามกรรมาชีพหรือตามนายทุน ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นประจำ ฉะนั้น"เผด็จการประชาธิปไตยของกรรมาชีพ และชาวนา" ต้องเป็นเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพที่นำมวลชนชาวนา

6. เผด็จการประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา ที่ต่างจากเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพในรูปแบบทางชนชั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพรรคปฏิวัติอิสระของชาวนาหรือชนชั้นนายทุนน้อย ที่สามารถยึดอำนาจโดยอาศัยความช่วยเหลือไม่มากหรือน้อยจากชนชั้นกรรมาชีพ แต่ประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ปัจจุบัน รวมถึงประวัติศาสตร์รัสเซียในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ว่าอุปสรรค์ที่ไม่สามารถข้ามได้ในการสร้างพรรคนี้คือ การที่ชนชั้นนายทุนน้อยไม่มีความอิสระทางการเมืองและเศรษฐกิจ และมีการแบ่งแยกฐานะภายในชนชั้นเดียวกัน ฉะนั้นส่วนบนของชนชั้นนายทุนน้อยหรือชนชั้นชาวนาจะสนับสนุนนายทุน โดยเฉพาะในเรื่องสงครามและการปฏิวัติ และส่วนล่างจะตามชนชั้นกรรมาชีพ ส่วนกลุ่มที่อยู่ระหว่างกลางจะต้องเลือกระหว่างสองขั้ว ระหว่างลัทธิคาเรนสกี กับ ลัทธิบอลเชอร์วิค หรือระหว่างพรรคกัวมินตั๋งกับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ เราจะไม่พบขั้นตอนกึ่งๆ กลางๆ และจะไม่พบเผด็จการประชาธิปไตยของกรรมาชีพและชาวนาเลย

7. การที่องค์กร คอมมินเทอร์น (ภายใต้สตาลิน) พยายามเอาคำขวัญอันล้าสมัยหมดยุคของ "เผด็จการประชาธิปไตยของกรรมาชีพและชาวนา" มาสวมครอบประเทศในตะวันออก มีผลในทิศทางปฏิกิริยาเท่านั้น เพราะเมื่อเอาคำขวัญนี้มาขัดแย้งกับคำขวัญ "เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ" จะทำให้กรรมาชีพสลายตัวเข้าไปใน มวลชนนายทุนน้อย ซึ่งจะเอื้ออำนวยกับการครอบงำความคิดจากนายทุนชาติ และการสลายตัวของการปฏิวัติประชาธิปไตย ฉะนั้นการใช้คำขวัญนี้โดยองค์กร คอมมินเทอร์น เป็นการกระทำที่ทรยศต่อลัทธิมาร์คซ์และกับประเพณีบอลเชอร์วิคจากตุลาคม 1917

8. เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมานำการปฏิวัติประชาธิปไตย จะต้องเผชิญหน้าอย่างรวดเร็วกับปัญหาต่างๆ ที่แก้ได้โดยวิธีเดียวเท่านั้นคือ การลดทอนสิทธิทรัพย์สินเอกชนของนายทุน ฉะนั้นกระบวนการประชาธิปไตยจะนำ ไปสู่การปฏิวัติถาวรเพื่อสร้างสังคมนิยมทันที

9. การยึดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น การสร้างระบบสังคมนิยมทำได้ภายใต้เงื่อนไข การต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้นในระดับชาติและระดับสากล การต่อสู้แบบนี้ ภายใต้ สภาพโลกที่ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์แบบทุนนิยม มักจะนำไปสู่การระเบิดภายใน ในรูปแบบสงครามกลางเมือง และการระเบิดภายนอกในรูปแบบสงครามปฏิวัติ สภาพเช่นนี้เองชี้ถึงความ "ถาวร" ของการปฏิวัติสังคมนิยม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนในประเทศล้าหลังที่พึ่งจะบรรลุการปฏิวัติประชาธิปไตย หรือในประเทศทุนนิยมเก่าแก่ที่มีประชาธิปไตยและระบบรัฐสภามานาน

10. ความสำเร็จของการปฏิวัติสังคมนิยมในขอบเขตประเทศเดียวเป็นไปไม่ได้ สาเหตุหนึ่งของวิกฤตปัจจุบันของสังคมทุนนิยมคือการที่พลังการผลิตปัจจุบันถูกจำกัดภายในขอบเขตของประเทศชาติไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสงครามจักรวรรดินิยมและสังคมเพ้อฝันในสหรัฐหรือยุโรปพร้อมๆกัน การปฏิวัติสังคมนิยมจะเกิดขึ้นในเวทีรัฐชาติ แต่จะแผ่ขยายไปในเวทีสากล และจะสำเร็จในเวทีโลก ฉะนั้นความ "ถาวร" ของการปฏิวัติสังคมนิยม มีมิติที่กว้างยิ่งขึ้นคือ สำเร็จได้ต่อเมื่อสังคมใหม่ได้รับชัยชนะทั่วโลก

11. การสรุปการพัฒนาของกระบวนการปฏิวัติโลกดังที่เขียนไว้ข้างต้นนี้ ทำให้เราสามารถยกเลิก "ปัญหา" ของประเทศที่ "สุกงอม" หรือประเทศที่ "ยังไม่พร้อม" ที่จะปฏิวัติสังคมนิยม ตามแนวคิดกลไกของ คอมมินเทอร์น ระบบทุนนิยมได้สร้างตลาดโลกและได้แบ่งงานและการผลิตในระดับโลก ฉะนั้นระบบทุนนิยมจึงได้ช่วยเตรียมเศรษฐกิจของทั้งโลกเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนิยม

ในประเทศต่างๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะมีอัตราความรวดเร็วที่ต่างกัน ในบางกรณีประเทศที่ล้าหลังอาจเกิดเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพก่อนประเทศก้าวหน้า แต่การสร้างสังคมนิยมที่สมบูรณ์จะใช้เวลายาวนานกว่าถ้าเทียบกับประเทศพัฒนา

ในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ชนชั้นกรรมาชีพอาจจะยังไม่มีความพร้อมที่จะสร้างแนวร่วมกับชาวนาเพื่อยึดอำนาจและจะไม่สามารถนำการปฏิวัติประชาธิปไตยไปสู่จุดจบของมันได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าประเทศไหนมีการปฏิวัติประชาธิปไตยจนชนชั้นกรรมาชีพเข้ามายึดอำนาจ เสถียรภาพของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพและสังคมนิยมจะไม่ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของระบบการผลิตในประเทศนั้นเป็นหลัก แต่จะขึ้นอยู่กับการพัฒนาของการปฏิวัติสังคมนิยมในระดับสากลมากกว่า

12.ทฤษฎีที่ว่าด้วยสังคมนิยมในประเทศเดียว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปฏิกิริยาที่ต่อต้านประเพณีตุลาคม 1917 เป็นทฤษฎีเดียวที่ขัดแย้งอย่างถึงที่สุดกับทฤษฎีปฏิวัติถาวร

ความพยายามของพวกสตาลินที่เขียนประวัติศาตร์แบบบิดเบือน ในการแก้ตัวว่าทฤษฎีการสร้างสังคมนิยมในประเทศเดียวเหมาะสมกับรัสเซีย เนื่องจากสภาพพิเศษของรัสเซีย (การที่เป็นประเทศใหญ่และมีทรัพยากรมากมาย) ไม่ได้ช่วยสนับสนุนข้อเสนอของเขาแต่อย่างใด แต่ยิ่งทำให้ข้อเสนออ่อนแอลง เพราะการตัดขาดจากจุดยืนสากลนิยมมักจะนำไปสู่จุดยืนที่ยกย่องความพิเศษ ดีเลิศของประเทศตัวเอง ซึ่งทำให้ประเทศตัวเองทำในสิ่งที่ประเทศอื่นทำไม่ได้

การแบ่งงานในระดับโลก การที่อุตสาหกรรมโซเวียตต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติ และการที่ระบบการผลิตของประเทศพัฒนาในยุโรปต้องพึ่งทรัพยากรและวัตถุดิบจากเอเซีย ฯลฯ ทำให้การสร้างระบบสังคมนิยมที่มีเอกราชในประเทศเดียวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

13. ทฤษฎีของสตาลินและบูคารินขัดแย้งกับประสบการณ์ทั้งหมดจากการปฏิวัติรัสเซีย เพราะแยกการปฏิวัติประชาธิปไตยออกจากการปฏิวัติสังคมนิยม และการปฏิวัติระดับชาติออกจากการปฏิวัติในระดับสากลในรูปแบบกลไก

ทฤษฎีนี้สร้างภาระอันเพ้อฝันกับการปฏิวัติในประกาศล้าหลังที่จะต้องสถาปนาระบบเผด็จการประชาธิปไตย ซึ่งต่างกับเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ฉะนั้นทฤษฎีนี้สร้างความเพ้อฝันในระบบความคิดทางการเมืองที่ทำลายการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพในตะวันออก และเป็นอุปสรรคในการปลดแอกประเทศเมืองขึ้น

จากมุมมองทฤษฎีของพวกสตาลิน การยึดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพคือจุดสิ้นสุดของการปฏิวัติและจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประดับชาติ ฉะนั้นทฤษฎีที่เสนอว่า "ชาวนาร่ำรวยจะวิวัฒนาการเข้าสู่ระบบสังคมนิยม" และทฤษฎี "การสร้างนายทุนโลก" แยกออกจากทฤษฎี "สังคมนิยมในประเทศเดียว"ไม่ได้

การใช้ทฤษฎีสังคมนิยมระดับชาติทำให้องค์กร คอมมินเทอร์น ไร้บทบาทนอกเหนือจากการรณรงค์เพื่อยับยั้งการส่งกำลังทหารมาปราบปรามรัสเซีย นโยบายปัจจุบันขององค์กร คอมมินเทอร์น การคัดเลือกผู้นำขององค์กร และวิธีการบริหารองค์กร ตรงกับการลดบทบาทของสากลคอมมิวนิสต์ไปเป็นองค์กรสำรองที่ไม่มีภาระในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

14. นโยบายขององค์กร คอมมินเทอร์น ที่เสนอโดยบูคาริน สับสนอย่างยิ่ง มันเป็นความพยายามที่จะผสมทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียว กับแนวคิดสากลนิยมของลัทธิมาร์คซ์ ซึ่งแยกไม่ออกจากลักษณะของการปฏิวัติระดับโลก ฉะนั้นการต่อสู้ของ"ฝ่ายค้านคอมมิวนิสต์ซ้าย" เพื่อนโยบายและการ บริหารที่ถูกต้องในสากลคอมมิวนิสต์ แยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อนโยบายแบบลัทธิมาร์คซ์ และปัญหาของนโยบาย คอมมินเทอร์น แยกไม่ออกจากปัญหาที่เกิดจากทฤษฎีสองทฤษฎีที่ขัดแย้งกันนั้นคือ ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรกับทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียว ปัญหาของการปฏิวัติถาวรได้พัฒนาจากยุคการถกเถียงระหว่างเลนินกับตรอดสกีนานแล้ว ความขัดแย้งหลักทางความคิดที่เราพบในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายมาร์คซ์ - เลนิน กับ ฝ่ายสายกลางที่สับสน

เขียนในปี 1928

แปลจาก Leon Trotsky (1975) "The Permanent Revolution, Results and Prospects" New Park Publications , London หน้า 152-157 โดย ใจ อึ๊งภากรณ์